ปากคลองตลาด ย่านชุมชนและการค้าที่สำคัญของกรุงเทพฯ ย่านที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่สมัยอยุธยาที่ยังคงพยายามปรับตัวให้อยู่ได้ในปัจจุบัน เพื่อให้เห็นที่มาที่ไป นักวิจัยโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ค้นคว้าการเดินทางอันยาวนานของปากคลองตลาด

สมัยอยุธยา พื้นที่นี้เป็นย่านชุมชนนอกกำแพงเมืองเก่า มีตลาดค้าขาย พบสิ่งปลูกสร้างทั้งวัดและป้อมปราการรอบชุมชน มีคูคลองและแม่น้ำหลายสายเข้ามาบรรจบกันจนมีลักษณะเป็นปากคลอง ต่อมาในสมัยธนบุรี เป็นจุดนัดพบของผู้คนที่สัญจรทางน้ำ มีการค้า แลกเปลี่ยนสิ่งของ จนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ บริเวณนี้เป็นตลาดปลาแหล่งใหญ่จากแม่น้ำท่าจีน เรียกว่า คลองตลาด

การที่คูคลองหลายสายมาบรรจบกันมีลักษณะเป็น ปากคลอง เมื่อมีสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมกับการค้าขาย และเป็นจุดนัดพบของผู้สัญจร จึงเกิดเป็นชุมชนและตลาดขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ปากคลองตลาด

ในช่วงรัชกาลที่ 5-7 ตลาดปลาย้ายไปที่วัวลำพอง (หัวลำโพง) ทำให้ตลาดซบเซา จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการสร้างตึกแถวและสะพานพระพุทธยอดฟ้าที่เชื่อมฝั่งพระนครและฝั่งธน ทำให้ปากคลองกลายเป็นตลาดขายส่งผักผลไม้และอาหารแห้งขนาดใหญ่

ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงใช้พื้นที่ปากคลองตั้งเป็นตลาดใหม่ จากการขนส่งทางบกและทางน้ำที่สะดวก โดยย้ายตลาดของสด ผักผลไม้ใกล้เคียงมารวมที่ปากคลองตลาด โดยตั้งเป็นองค์การตลาดในความดูแลของทางราชการ และยังเกิดตลาดเอกชนทั้ง ตลาดยอดพิมาน (พ.ศ. 2504) ที่เน้นขายดอกไม้ และตลาดส่งเสริมเกษตรไทย ทำให้การค้าในย่านสู่จุดสูงสุดช่วง พ.ศ. 2506-2516 ซึ่งมีทั้งโรงหนังเอ็มไพร์ รถราง และสมาคมชาวปากคลองตลาดใน พ.ศ. 2512

หลังจากนั้นปากคลองตลาดกลับสู่ช่วงซบเซาอีกครั้งหนึ่ง ช่วง พ.ศ. 2538 – 2542 จากภาครัฐจัดระเบียบพื้นที่ ปัญหาสินค้าเกษตรราคาถูกจากจีนและอินเดีย และการเติบโตของตลาดค้าส่งขนาดใหญ่นอกเมือง และห้างสรรพสินค้าค้าปลีกในเมือง เมื่อการขายผักผลไม้ลดลง การค้าดอกไม้มีจำนวนมากขึ้น จากรัฐที่สนับสนุนการท่องเที่ยว ให้แผงค้าดอกไม้เข้ามาแทนที่และล้นมาถึงริมฟุตบาท

ช่วง พ.ศ. 2552 – 2557 รัฐบาลได้เข้ามาจัดระเบียบทางเท้า ผู้ค้าดอกไม้บางคนต้องย้ายออกหรือย้ายไปขายในตลาดยอดพิมาน เมื่อตลาดแออัด และบทบาทการค้าส่งของปากคลองน้อยลง จึงปรับตัวเป็นตลาดค้าปลีกที่เชื่อมโยงสินค้าสู่ตลาดขนาดเล็กพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กลายเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก

"มาลัย 1 พวง มีอะไรบ้าง? ดอกรัก ก็กระทบสวนดอกรัก มะลิ กระทบสวนมะลิ สวนดาวเรือง สวนกุหลาบ โบว์ที่ผูก ก็คนที่อยู่อยุธยาที่ยากจน ทำนาเสร็จเขาก็เย็บโบว์"

ป้าเยาว์ จากเพจเฟสบุ๊ค มนุษย์ปากคลองฯ

"พี่พบรักกับสามีที่นี่ เค้าขายเทปอยู่หน้าโรงหนังเอ็มไพร์"

ทองสาย นวลนุกูล จากเพจเฟสบุ๊ค มนุษย์ปากคลองฯ

"มาซื้อดอกไม้ไปงานปัจฉิมฯ ปรกติหนูใช้ชีวิตวนอยู่แต่แถวสยาม ไม่รู้ว่าจะมีของเยอะขนาดนี้"

เบนซ์ กุ้บกิ้บ และศิรัตน์ จากเพจเฟสบุ๊ค มนุษย์ปากคลองฯ

"มันคือ...บ้าน"

เอี่ยว ร้านหลี่ชุน จากเพจเฟสบุ๊ค มนุษย์ปากคลองฯ

"ทำสวนกันเอง ทำเอง ขายเอง ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ เกิดมาก็เห็นดอกไม้เลยครับ"

พี่ต่อ (คนปลูกกุหลาบ) จากเพจเฟสบุ๊ค มนุษย์ปากคลองฯ

"ขายตั้งแต่สมัยมีรถราง ตอนเป็นเด็กก็วิ่งอยู่แถวนี้ วิ่งขายของนะ ไม่ได้วิ่งเล่น"

ป้าดา ปากคลองฯ จากเพจเฟสบุ๊ค มนุษย์ปากคลองฯ

"ภายหลังรัฐบาลจัดระเบียบไป ทำให้ปากคลองขาดเสน่ห์ไปมาก ทุกวันนี้อะไรก็ไม่เหมือนเดิม ป้าแอ๊วเองก็อายุมากขึ้น ขายของก็ขาดทุน เพราะค่าแผงราคาสูงและขายไม่ดีเหมือนเดิม ลูกสาวก็บอกว่าไม่ค่อยคุ้ม ทำให้คิดว่าสักวันอาจจะต้องเลิกขาย"

ป้าแอ๊ว แม่ค้าขายดอกมะลิ | ภาพโดย leotsak (Flickr)

"การใช้ชีวิตตามแบบฉบับเหล่าแม่ค้าที่มาจากบ้านนอกเหมือนกัน ทำให้มีความโอบอ้อมอารีคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่แข่งขันกันมากเหมือนในปัจจุบัน เมื่อครั้งสะพานพุทธยังยกเปิด-ปิดได้ ราว 40 กว่าปีมาแล้ว ผู้คนมักขนส่งดอกไม้มาทางเรือ ก่อนจะเปลี่ยนมาขนส่งทางรถยนต์ บรรยากาศปากคลองในอดีตจะเหมือนตลาดร้อยปี มีแม่ค้าขายของทั้งแบบหาบและแบบตั้ง และที่ผ่านมาปากคลองไม่ได้มีแค่ดอกไม้เท่านั้น แต่ดอกไม้มักจะขายคู่กับผักมาตลอด หรือแม้กระทั่งกับข้าว ขนม ผลไม้ และเสื้อผ้า ที่มักจากใส่ถุงหรือใส่ราวมาเดินขายกันได้ตามอิสระ ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ใครจะเข้ามาขายของก็ต้องเสียเงิน"

ป้าแอ๊ว แม่ค้าขายดอกมะลิ

"การเฝ้ารับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งยังเด็ก กลายเป็นความซาบซิึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ... จากฐานะทางบ้านที่ไม่สู้ดี ป้าอี๊ดและครอบครัวจึงตัดสินใจย้ายเข้าสู่กรุงเทพฯ ตามเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ขายดอกบัวที่ริมฟุตบาทปากคลองตลาด จนสร้างเนื้อสร้างตัวได้ในที่สุด เมื่อคราวที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ประชวร เมื่อปี 2549 ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทดแทนพระมหากรุณาธิคุณจึงได้นำดอกบัวที่พับด้วยฝีมือตนเองอย่างปราณีตที่สุดไปถวาย ณ โรงพยาบาลศิริราชทุกวัน ด้วยความเป็นคนไทยที่รักพระองค์อย่างท่านสุดหัวใจ"

ป้าอี๊ด ร้านอี๊ด ขายดอกบัว

"ปี พ.ศ. 2542 เริ่มมีการนำสินค้าจากจีนเข้ามาขาย โดยคนไทยเองนำขึ้นเครื่องบินหรือรถไฟมาแบบไม่เสียภาษี อย่าง เช่น บลอคโคลี่ ที่มีขนาดใหญ่กว่าของไทยและอยู่ได้นานกว่า (เนื่องจากใช้สารเคมี) ... อีกทั้งยังมีตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท และห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น ทำให้ตลาดซบเซาลง ผู้ค้าปากคลองบางคนก็ย้ายไปขายที่ตลาดสี่มุมเมืองหรือตลาดไทด้วยเช่นกัน เมื่อตลาดการขายผัก ผลไม้ลดลง ทำให้การค้าดอกไม้มีจำนวนมากขึ้นเนื่องจากรัฐสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว ให้ตลาดปากคลองกลายเป็นตลาดดอกไม้ แผงค้าดอกไม้จึงเข้ามาแทนที่แผงผักผลไม้และล้นทะลักมาถึงริมฟุตบาท"

วิรัตน์ อภิชาต | ภาพโดย Anthony Bouch (Flickr)

"ช่วงที่ปากคลองตลาดเริ่มซบเซาลง เป็นช่วง พ.ศ. 2538-2542 แต่ไม่ใช่เหตุน้ำท่วมใหญ่ เพราะปากคลองท่วมทุกปีอยู่แล้ว แม่ค้าชาวบ้านชินกันแล้ว เขาต้องเตรียมรับมือด้วยตัวเอง ... แต่สิ่งที่เป็นสาเหตุคือ รัฐบาลเข้ามาจัดระเบียบ ไม่ให้จอดรถ ล้อมรั่วสะพานพุทธ รัฐต้องการให้ตลาดย้ายไปอยู่ข้างนอก ไม่อยากให้มีตลาดในไข่ดาวของกรุงเทพฯและจำกัดเวลารถบรรทุก มันทำให้ชีวิตเปลี่ยน ต้องวางแผนใหม่"

วิรัตน์ อภิชาต

"เป็นศาลที่มีมานานพร้อม ๆ กับตลาด มีการบูรณะอยู่เรื่อย ๆ เท่าที่คุณป้าเห็นก็บูรณะไปทั้งหมด 2 ครั้งแล้ว โดยทุกปีจะมีงานบวงสรวงสมโภชองค์สมเด็จเจ้าพ่อปากคลองตลาดในทุก ๆ วันที่ 31 ธันวาคมถึง 2 มกราคม ... ทุก ๆ ตลาดจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำแต่ละที่เช่นของตลาดนี้จะเป็นองค์สมเด็จเจ้าพ่อปากคลองตลาด ของทางตลาดยอดพิมานจะเป็นศาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ส่วนทางฝั่งแถวตลาดสะพานพุทธจะมีศาลพระพรหม ซึ่งแต่ละตลาดก็จะมีงานประจำปีที่ปฏิบัติสืบกันมาทุกปี"

เพ็ญศรี เขียนเอี่ยม

"ตอนที่ทำร้านอาหาร ขายก๋วยเตี๊ยว ข้าวมันไก่ กาแฟ ช่วงเช้าถึงบ่าย ตอนเย็นขายโจ๊ก เปิดตั้งแต่หกโมงจนถึงเที่ยงคืน มีลูกน้อง 8 คน มาจากแปดริ้วและอีสาน อยู่กินที่ร้านเลย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนสวนกุหลาบฯ และคนที่มาโรงหนังเอ็มไพร์ ดาราดังมักมาทานที่ร้านประจำ เคยได้รับรางวัลร้านอาหารสะอาดจากจอมพลสฤษดิ์ ตอน 2504 พอโรงหนังหมดความนิยมก็ขายไม่ค่อยดี พอมีตลาดดอกไม้ แผงดอกไม้มาบังหน้าร้านก็ทำให้ขายไม่ดียิ่งขึ้น ก็เลิกไป"

กุหลาบ ศรีปัญญาวิทย์ (ตั้ง ซูเน้ย)

"หลังจาก พ.ศ. 2516 ทุกอย่างมันพีคมาก ขายทั้งวันทั้งคืน มีทุกอย่าง มาจากทั่วประเทศ"

วิรัตน์ อภิชาต

"ส่วนที่เป็นตลาดยอดพิมาน แต่ก่อนยังไม่มีหลังคา เป็นตลาดโล่ง ด้านหลังติดน้ำจะขายผัก ส่วนพื้นที่ข้าง ๆ หรือตลาดปากคลองตลาด จะเป็นตลาดสด มีขายขนมหวาน พ่อค้าแม่ค้าจะไม่มีแผงเหมือนตอนนี้หรอก เขาจะขายด้วยวิธีที่แบขายกับพื้น และใส่กะละมังขาย ตลาดก็จะเป็นตลาดชั้นเดียวไม่ได้เป็นสองชั้นเหมือนตอนนี้ ตรงท่าน้ำ ก็จะเป็นท่าขึ้นลงของสินค้าพวกผักผลไม้ เมื่อก่อนก็มีการจัดโซนขายระหว่างดอกไม้กับผักผลไม้บ้าง แต่จะไม่เป็นระเบียบเหมือนนี้ ริมถนนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ยังวางขายได้"

แม่แอ๊ว พจนันท์ เทียมเมือง

"ราว พ.ศ. 2496 ตลาดเริ่มมีการจัดตั้งเป็นตลาดจริงจัง ประกอบกับเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโดยรอบ เช่นการมีรถรางจากปากคลองไปบ้านหม้อ จึงทำให้บรรยากาศของตลาดยิ่งคึกคัก คนหลั่งไหลมาซื้อของกันจำนวนมาก"

องกงเสมอ เหล่ามานะเจริญ

"สมัยรัชกาลที่ 5 ...คลองตลาด ที่เรียกคลองตลาดก็เพราะที่ปากคลองด้านใต้เป็นตลาดใหญ่ ซึ่งเป็นท่าปลาด้วย คือ ปลาที่มาจากท่าจีน แม่กลอง เข้าคลองบางหลวง ผ่านหน้าบ้านข้าพเจ้า...มาขึ้นที่ท่าปลาปากคลองตลาด..."